"ในหลวง นักพัฒนา คู่ฟ้า ICT"




ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนับได้ว่ามีการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกิดขึ้นมาก มีการออกพระราชบัญญัติจัดตั้งหน่วยงานเพื่อรับผิดชอบ ได้แก่ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ สำนักงานคณะกรรมวิจัยแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม สำนักงานพลังปรมาณูเพื่อสันติ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นต้น ด้านการพัฒนาบุคคลากรมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการให้ทุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังต่างประเทศด้วย นอกจากนี้ยังได้มีการรวมตัวกันจัดตั้งสมาคมวิชาชีพด้านวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีขึ้นหลายสาขา เช่น สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ เป็นต้น การพัฒนาเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยก้าวทันความก้าวหน้าทางวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีและสามารถนำมาพัฒนาประเทศได้ในหลายด้าน เช่น การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติด้วยดาวเทียม การใช้พลังงานปรมาณูเพื่อการถนอมอาหาร การศึกษาและการเตรียมความพร้อมสำหรับการพลังงานปรมาณูเป็นแหล่งของพลังงานไฟฟ้าในอนาคต เป็นต้น

พระราชกรณียกิจ



1 ด้านการสื่อสาร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยด้านการสื่อสารตั้งแต่ทรงพระเยาว์ทรงทดลองต่อสายพ่วงขนานกับลำโพงขยายของเครื่องรับวิทยุส่วนพระองค์ที่ผลิตจากประเทศสวีเดน ยี่ห้อ "centrum"จากห้องที่ประทับพระองค์ท่านไปยังห้องที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทั้งสองพระองค์ทรงพอพระทัยในบริการเสียงตามสายไม่น้อย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงอุทิศพระองค์ พระอิจฉริยและพระอุตสาหะทั้งมวล เพื่อราษฎรในทุกภูมิภาค พระองค์ทรงมีดำริให้มีการพัฒนาด้านระบบวิทยุสื่อสารอย่างจริงจังและต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ สามารถรับส่งได้ไกลยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงใช้เครื่องมือสื่อสารพกติดพระองค์ เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆอยู่เสมอ เพราะสิ่งที่พระองค์ทรงขาดไม่ได้คือ การสดับตรับฟังข่าวทุกข์สุขของประชาชน ดังเช่น ในระหว่างการเสด็จเยี่ยมราษฎรได้ทรงพบว่า มีผู้ใดที่กำลังเจ็บป่วยจำเป็นต้องบำบัดรักษาจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้คณะแพทย์ผู้ตามเสด็จดูแลตรวจรักษาทันที ในบางรายที่มีอาการป่วยหนักจำเป็นต้องส่งตัวเข้าบำบัดรักษาในโรงพยาบาลท้องถิ่นหรือโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครโดยเร็ว หากมีเวลาเพียงพอพระองค์ท่านจะรับสั่งผ่านทางวิทยุถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตำรวจตระเวนชายแดนขอรับสนับสนุนเรื่องการขนส่ง เช่น เฮลิคอปเตอร์ เพื่อนำผู้ป่วยเจ็บส่งมายังที่หมายปลายทางด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้พระองค์ได้ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำระบบสื่อสารแบบถ่ายทอดสัญญาณหรือRepeaterซึ่งเชื่อมต่อทางวงจรทางไกลขององค์การโทรศัพท์ให้มูลนิธิแพทย์อาสา (พอ.สว.) นำไปใช้เพื่อช่วยเหลือรักษาพยาบาลแก่ผู้เจ็บป่วยในท้องถิ่นห่างไกล
ในเรื่องปฎิบัติการฝนเทียมหรือฝนหลวงพระราชทานในการปฎิบัติระยะแรก ๆ ได้ประสบปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ไม่ทราบล่วงหน้า ซึ่งนักบินผู้ปฎิบัติจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำแก้ไขโดยฉับพลันเนื่องจากยังไม่มีการติดต่อสื่อสารระหว่าง ผู้ปฎิบัติการด้วยกัน จึงเป็นเหตุให้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร กล่าวคือ ฝนไม่ตกในเป้าหมายบ้าง ตกน้อยหรือไม่ตกตามที่คิดบ้าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสดับตรับฟังข่างการปฎิบัติการฝนเทียมทุกครั้ง และทรงทราบถึงปัญหาสำคัญคือ การขาดการติดต่อสื่อสารที่ดี จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ติดตั้งหน่วยวิทยุให้แก่หน่วยปฎิบัติการฝนเทียมทั้งทางอากาศและทางภาคพื้นดิน


นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้ทำการวิจัยรวมถึงการออกแบบและสร้างสายอากาศย่านความถี่สูงมากหรือที่เรียกว่าVHF(วี.เอช.เอฟ) ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ
ประการแรก เพื่อที่จะได้ใช้งานกับวิทยุส่วนพระองค์ ทั้งนี้โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้ทราบเหตุการณ์ต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสาธารณภัยที่เกิดขึ้นกับประชาชน เรื่องไฟไหม้บ้าน เรื่องน้ำท่วม เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ทรงช่วยเหลือได้ทันท่วงที
ประการที่สอง เพื่อที่จะพระราชทานให้แก่หน่วยราชการต่างๆ
ประการที่สาม เพื่อส่งเสริมให้คนไทยที่มีความรู้ ความสามารถและตั้งใจจริงได้ใช้ความอุตสาหวิริยะในการพัฒนาระบบวิทยุสื่อสารขึ้นใช้เองภายในประเทศ นอกเหนือจากวิทยุแล้ว ในเรื่องของเทเล็กซ์พระองค์ทรงสนพระทัยอยู่ไม่น้อย และสิ่งหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เคยทรงขาดคือ การพระราชทานพรปีใหม่ นอกจากจะทรงมีกระแสพระราชดำรัส พระราชทานพรปีใหม่แก่พสกนิกรไทยทางวิทยุและโทรทัศน์ ทุกแห่งแล้ว พระองค์ท่านยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานพรทางเทเล็กซ์ สม่ำเสมอทุกปี แต่ในปัจจุบันท่านทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการประดิษฐ์บัตรอวยพรปีใหม่แทน นอกจากนี้พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารว่า การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนธุรกิจทุกประเภท การสื่อสารเป็นหัวใจของความมั่นคงของประเทศ และการสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจทุกประเภท การสื่อสารเป็นหัวใจของความมั่นคงของประเทศ และการสื่อสารเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศให้ประชาชนอยู่ดีกินดี


2. พระราชกรณียกิจด้านวิทยุกระจายเสียง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยในเรื่องวิทยุเป็นอย่างมากตั้งแต่เมื่อครั้งยังเยาว์ซึ่งพระองค์ประทับอยู่ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลน พระองค์ได้ทรงซื้ออุปกรณ์เครื่องรับวิทยุซึ่งมีวางขายเลหลังราคาถูกทรงประกอบเป็นเครื่องรับวิทยุชนิดแร่ สามารถรับฟังวิทยุกระจายเสียงในยุโรปได้หลายแหล่ง ต่อมาเมื่อกิจการวิทยุเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ได้นำหลอดวิทยุมาใช้ในเครื่องรับ-ส่งวิทยุ และเครื่องขยายเสียง และพระองค์ท่านก็ได้ทดลองอุปกรณ์แบบใหม่นี้ด้วยเช่นกัน
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับมาประทับในประเทศไทยเป็นการถาวร ในปีพ.ศ.2495พระองค์ได้ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส.ขึ้นที่พระราชวังสวนดุสิตและชื่อสถานีวิทยุดังกล่าวได้ทรงนำมาจากอักษรย่อของพระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ออกอากาศครั้งแรก ต่อมาจึงย้ายสถานีวิทยุ อ.ส.เข้าไปตั้งในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สถานีวิทยุ อ.ส.เมื่อแรกตั้งเป็นสถานีเล็กๆ มีเครื่องส่ง 2 เครื่อง ขนาดที่มีกำลังส่ง 100 วัตต์ ออกอากาศด้วยคลื่นสั้นและคลื่นยาวในระบบ AMพร้อมๆกัน เครื่องส่งรุ่นแรกนี้เป็นเครื่องที่กรมประชาสัมพันธ์ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายและติดตั้งให้ด้วย เมื่อออกอากาศไปได้ระยะหนึ่ง ในระบบคลื่นสั้นก็มีจดหมายรายงานผลการรับฟังเข้ามาจากหลายประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมัน เป็นต้น ดังนั้นจึงทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขยายกำลังส่ง โดยมีชื่อรหัสสถานีว่า HS 1 AS ในปีพ.ศ. 2525 สถานีวิทยุ อ.ส. ได้เพิ่มการส่งกระจายเสียงในระบบ FM ขึ้นอีกระบบหนึ่ง ในการขยายด้านกลำลังส่งนั้นอุปกรณ์ต่างๆล้วนแต่มีผู้โดยเสด็จพระราชกุศลเพื่อให้สถานีวิทยุ อ.ส.สามารถบริการประชาชนได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นอาจถือได้ว่าเป็นสถานีวิทยุเอกชนเพียงแห่งเดียวที่สามารถกระจายเสียงคลื่นสั้นได้ ทั้งนี้เพราะถือได้ว่าเป็นเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์
พระองค์ทรงมีวัตถประสงค์ที่ทรงตั้งสถานีวิทยุอ.ส.เพื่อเปิดโอกาสให้พสกนิกรมีช่องทางในการติดต่อกับพระองค์ได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนตามพิธีการเหมือนในสมัยก่อน ทรงใช้สถานีวิทยุเพื่อเป็นการสื่อสารในการประชาสัมพันธ์ติดต่อข่าวสารกับประชาชน และเป็นสื่อสัมพันธ์ระหว่างพระองค์และประชาราษฎร์ที่ทรงแสดงให้ทราบถึงใจรักที่พระองค์ท่านพระราชทานให้กับประชาชนทั่วทุกคน
นอกเหนือจากเป็นสถานีวิทยุของสื่อมวลชนเพื่อการบันเทิงและเผยแพร่ความรู้กับประชาชน ยังได้ทำหน้าที่แจ้งข่าวสารแก่ประชาชนในโอกาสสำคัญหรือเกิดเหตุการณ์ที่สำคัญต่างๆขึ้นเช่น การเกิดโรคโปลิโอระบาดใน ปี พ.ศ.2495อหิวาตกโรค ในปี พ.ศ. - 2501 และเมื่อเกิดวาตภัยที่แหลมตะลุมพุก ในปีพ.ศ.2505 โดยมีพระราชดำริให้ใช้สถานีวิทยุ อ.ส. เพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์กรรม จนเป็นบ่อเกิดของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ซึ่งปัจจุบันมีคุญขวัญแก้ว วัชโรทัย ทำหน้าที่นายสถานี


3. พระราชกรณียกิจด้านดาวเทียม
ดาวเทียมไทยคมนับว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้การสื่อสารโทรคมนาคมของไทยก้าวสู่ยุคแห้งความล้ำหน้าและได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนองพระราชดำริในเรื่องของการศึกษา คุณขวัญแก้ว วัชโรทัย เป็นผู้สนองพระราชภารกิจที่โรงเรียนไกลกังวล หัวหินซึ่งขณะนี้ได้พยายามที่จะเอาดาวเทียมไทยคมเข้าไปใช้ในกิจการด้านการเรียน การสอน เจตนารมณ์ดังกล่าว เป็นการสนองตอบความต้องการของประชาชนและเป็นการปรับปรุงในเรื่องของการศึกษาให้สอดคล้องกับยุคสมัยอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นการจัดการศึกษาใต้ร่มพระบารมีอย่างแท้จริง และที่สำคัญเพื่อเป็นการสนองพระบรมราโชบายทางการศึกษา ในอันที่จะทำให้โรงเรียนไกลกังวลเป็นเครือข่ายและเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาไทยคมอย่างแท้จริง กล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นอเนกอนันต์ต่อประเทศชาติที่ได้มีพระราชดำริให้มีการพัฒนางานทางระบบวิทยุสื่อสารขึ้นในประเทศอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพราะสังคมปัจจุบันการสื่อสารก็เปรียบเสมือนกับระบบประสาทของร่างกายมนุษย์ ดังนั้นจึงนับได้ว่าพระองค์ท่านนั้นมีสายพระเนตรที่ยาวไกล ทรงเห็นบทบาทที่สำคัญยิ่งต่อการสื่อสาร

 
การสนับสนุนของในหลวงด้านการค้นคว้าในทางวิทยาการคอมพิวเตอร์






พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่สนพระทัยใฝ่รู้และทรงศึกษาอย่างจริงจัง ลึกซึ้งในการค้นคว้าวิจัยเพื่อการพัฒนาในทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ การเกษตร การชลประทาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศนั้น ทรงเห็นความสำคัญและประโยชน์อย่างยิ่ง ทรงสนับสนุนการค้นคว้าในทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ ในด้านส่วนพระองค์นั้น ทรงศึกษาคิดค้นสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการประมวลผลข้อมูลต่างๆ ด้วยพระองค์เอง ทรงประดิษฐ์รูปแบบตัวอักษรไทยที่มีลักษณะงดงาม เพื่อแสดงผลบนจอภาพคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์ ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อบันทึกพระราชกรณียกิจต่างๆ ทรงติดตั้งเครือข่ายสื่อสารคอมพิวเตอร์เพื่อสนับสนุนพระราชภารกิจต่างๆ ทั้งยังทรงเคยประดิษฐ์ ส.ค.ส.ด้วยคอมพิวเตอร์ เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนเพื่อทรงอวยพรปวงชนชาวไทย
พระองค์ทรงสนพระทัยคอมพิวเตอร์เป็นอย่างมาก สังเกตได้จากขณะเสด็จพระราชดำเนินชมงานนิทรรศการต่างๆ เช่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พระองค์สนพระทัยซักถามอาจารย์และนักศึกษาที่ประดิษฐ์ซอฟต์แวร์ต่างๆ อย่างละเอียดและเป็นเวลานาน
                                                             มหาราชนักคอมพิวเตอร์




 
ในด้านการใช้คอมพิวเตอร์นี้ อาจกล่าวได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอยู่แนวหน้าของกลุ่มที่ตามทันการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกยุคโลกาภิวัตน์ ทรงเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี เป็นผู้นำที่ไม่กลัวความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีความพร้อมที่จะทดลองประเมินคุณค่า กล้าลองใช้ด้วยตัวเอง และแนะนำคนอื่นให้รู้ประโยชน์และโทษภัยของเทคโนโลยีนั้นๆ ได้ด้วยสายพระเนตรที่เป็นธรรมและทรงเห็นการณ์ไกล นับเป็นโชคดีที่วิเศษที่สุดของชาวไทยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้นำในด้านต่างๆ ดังกล่าวอย่างแท้จริง ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ประกอบกับพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในส่วนที่เกี่ยวกับการที่ทรงศึกษาและใช้คอมพิวเตอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ดี ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับจัดทำและบันทึกโน้ตเพลงก็ดี ทรงคิดค้นสร้างชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์เพื่อการประมวลผลข้อมูลต่างๆ ด้วยพระองค์เองก็ดี ทรงประดิษฐ์รูปแบบตัวอักษรไทยที่มีลักษณะงดงามเพื่อแสดงผลบนจอภาพคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์ก็ดี ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อบันทึกพระราชกรณียกิจต่างๆ ก็ดี ทรงติดตั้งเครือข่ายสื่อสารคอมพิวเตอร์เพื่อสนับสนุนพระราชภารกิจด้านต่างๆ ก็ดี ทรงประดิษฐ์ ส.ค.ส. ด้วยคอมพิวเตอร์แล้วทรงเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนเพื่อทรงอวยพรแก่ปวงชนชาวไทยก็ดี และทรงสนับสนุนการจัดทำพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ก็ดี สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นหลักฐานสนับสนุนที่มากเกินพอว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคู่ควรกับพระราชสมัญญานามที่พสกนิกรไทยทั้งหลายพร้อมใจกันน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายว่า “มหาราชนักคอมพิวเตอร์”

                                                     พระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์







ในส่วนที่เกี่ยวกับศาสนานั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน ๑,๔๗๒,๙๐๐ บาท ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๔ ให้มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำโครงการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎก และอรรถกถาต่อเนื่องจากโครงการพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์เดิม ที่มหาวิทยาลัยมหิดลพัฒนาเสร็จแล้ว และได้ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสรัชมังคลาภิเษก ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๑ ทรงเห็นว่าโครงการนี้ควรได้รวบรวมเอาชุดอรรถกถาและฎีกาเข้าไว้ด้วยกัน นับเป็นโครงการที่นำวิทยาการชั้นสูงมาประยุกต์ใช้กับข้อมูลเนื้อหาทางด้านพุทธศาสนา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถาฉบับคอมพิวเตอร์นี้ด้วยพระองค์เอง และมีพระบรมราชวินิจฉัย และพระราชวิจารณ์ในการออกแบบโปรแกรมสำหรับใช้ในการสืบค้นข้อมูล
ในฐานะแห่งองค์เอกอัครศาสนูปถัมภ์ การครั้งนี้กล่าวได้ว่า เป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนยาวนานสืบไปในอนาคตกาล เพราะโครงการพระราชดำรินี้ เป็นส่วนสนับสนุนอย่างสำคัญ ที่ทำให้การศึกษาพระไตรปิฎกและชุดอรรถกถาเป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ อีกทั้งรวบรวมเนื้อหาไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นประโยชน์โดยตรงต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา นับเป็นการใช้วิทยาการอันก้าวหน้าทางคอมพิวเตอร์ได้อย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์
สำหรับโครงการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถาตามพระราชดำรินี้ ได้พัฒนาแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๔ ในชื่อ BUDSIR IV โดยพัฒนาต่อเนื่องจาก โปรแกรม BUDSIR (อ่านออกเสียงว่า บุดเซอร์) มาจากคำว่า Buddhist Scriptures Information Retrieval สำหรับประวัติของ BUDSIR นั้น BUDSIR I สามารถค้นหาคำทุกคำ ศัพท์ทุกศัพท์ ทุกวลี ทุกพุทธวจนะ ที่มีปรากฏในพระไตรปิฎก จำนวน ๔๕ เล่ม หรือข้อมูลมากกว่า ๒๔.๓ ล้านตัวอักษร ที่ได้รับการบันทึกในคอมพิวเตอร์ได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และครบถ้วนสมบูรณ์ BUDSIR II พัฒนาแล้วเสร็จในเดือนกันยายน ๒๕๓๒ ซึ่งเป็นพระไตรปิฎกอักษรโรมัน สำหรับการเผยแผ่ไปยังต่างประเทศ BUDSIR III ได้รับการพัฒนาขึ้นอีกในเดือนเมษายน ๒๕๓๓ เพื่องานสืบค้นที่มีความซับซ้อน สำหรับ BUDSIR IV นี้ ได้รวบรวมพระไตรปิฎกและอรรถกถา/ฎีกา รวมทั้งคัมภีร์ทุกเล่มที่ใช้ศึกษาหลักสูตรเปรียญธรรม นอกจากนี้ยังรวม version ที่เป็นอักษรโรมันเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งมีขนาดข้อมูลรวม ๑๑๕ เล่ม หรือประมาณ ๔๕๐ ล้านตัวอักษร นับเป็นพระไตรปิฎกและอรรถกถา ฉบับคอมพิวเตอร์ที่สมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบัน และมหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้พัฒนาโครงการดังกล่าวเพิ่มเติม โดยบันทึกพระไตรปิฎกและอรรถกถา ลงบนแผ่น CD-ROM แล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม ๒๕๓๗ ซึ่งจะอำนวยความสะดวกอย่างมากต่อผู้ที่ต้องการจะศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะเป็นชาวไทย หรือชาวต่างประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๓๘ และในปัจจุบันสำนักคอมพิวเตอร์ ได้เริ่มโครงการพัฒนาโปรแกรมพระไตรปิฎกคอมพิวเตอร์ ฉบับภาษาไทย เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปได้ศึกษา อันจะเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้งานโปรแกรมนี้ให้แพร่หลายยิ่งขึ้น

ICT กับเศรษฐกิจพอเพียง
เศรฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสใช้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทย สำหรับประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน ตลอดจนถึงระดับประเทศ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย 3 หลัก กับ 2 เงื่อนไข คือ1. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดี ที่ไม่น้อยเกินไป และ ไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนผู้อื่นและตนเอง2. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ3. การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต อีก 2 เงื่อนไข คือ1. คุณธรรม คือ ผู้ที่ปฏิบัติหรือผู้ที่ตัดสินใจนั้น ควรจะตัดสินใจด้วยคุณธรรม เช่น ความซื่อสัตย์ ความเพียร ความอดทน2. ความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวัง ไม่ใช่มีความรู้แค่ในตำรา แต่ต้องเป็นความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ด้วยในปัจจุบันระบบสารสนเทศมีความสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาข้อมูล การส่งข้อมูลข่าวสาร การติดต่อสื่อสาร ซึ่งต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เป็นสื่อกลาง และในเครื่องคอมพิวเตอร์จะมีซอฟต์แวร์ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ควบคุมการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ ดังนั้นถ้าเราจะนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ร่วมด้วย ก็จะต้องมีการวางแผนซื้อซอฟต์แวร์ที่เราจำเป็นต้องใช้จริง ๆ ถึงแม้ว่าจะมีราคาสูง เราก็ต้องตัดสินใจซื้อตามความเหมาะสมเพราะว่าประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตซอฟต์แวร์ใช้เองได้ เรายังต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ โดยต้องดูความคุ้มทุนด้วย แต่ถ้าเรานำแนวคิดการพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สมาใช้แก้ปัญหา ก็จะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดการผูกขาดสินค้าจากต่างประเทศ เพราะว่าเราสามารถผลิตซอฟต์แวร์ใช้ได้เอง และการผลิตก็ต้องเหมาะสมกับการใช้งานของคนไทย รวมทั้งลดปัญหาการละเมิดลิขสิทธ์ของต่างประเทศ ถึงแม้ว่าการพัฒนาซอฟต์แวร์อาจจะเป็นเรื่องยาก แต่หากมีการปฏิบัติได้จริง ก็จะช่วยให้คนไทยมีงานทำเพิ่มขึ้น และอาจมีการพัฒนาความรู้ทางด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ มากมาย